แสวงหานิทาน

Thursday, December 29, 2011

กล้วยไม้

นิทานเซน เรื่องกล้วยไม้
นิทานเรื่องนี้สอนให้เรารู้จักปล่อยวาง อ่านแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้



       พระ อาจารย์เซนท่านหนึ่งชอบปลูกต้นไม้ดอกไม้มาก โดยเฉพาะ กล้วยไม้รอบๆบริเวณวัดปลูกกล้วยไม้ชนิดต่างๆไว้มากมาย กล้วยไม้เหล่านั้นล้วนมาจากที่ต่างกัน ยามว่างท่านมักจะดูแลรดน้ำกล้วยไม้เหล่านี้ด้วยตัวเอง

        วันหนึ่งท่านมีธุระจะต้องลงเขาไป จึงกำชับลูกศิษย์ให้ดูแลรดน้ำต้นไม้ให้ดี ขณะที่ลูกศิษย์กำลังรดน้ำอยู่นั้น เกิดหกล้มชนเสากล้วยไม้ล้มลง ทำให้กระถางแตก และกล้วยไม้ตกลงมาระเนระนาด ลูกศิษย์คิดในใจว่า อาจารย์กลับมาต้องโกรธ และตัวเองจะต้องถูกลงโทษเป็นแน่

       เมื่อพระอาจารย์กลับมา ทราบเรื่องแล้วก็ไม่ได้โกรธแต่อย่างใด และยังพูดอีกว่า ตั้งแต่แรกเริ่มก็ไม่ได้ปลูกไว้ เพื่อที่จะโกรธ แต่เพื่อที่จะบ่มเพาะนิสัยและฝึกฝนจิต และเพื่อนำมาบูชาพระและสร้างทัศนียภาพรอบๆวัดให้ดูสวยงามและน่าอยู่

       เรื่องราวต่างๆในโลกนี้ล้วนแต่เป็นอนิจจัง อย่ายึดติดกับสิ่งที่ตนเองรักจนแยกจากสิ่งนั้นไม่ได้ นั่นไม่ใช่วิสัยของผู้ปฏิบัติธรรม
******* 
กล่องนิทาน http://www.dhammajak.net

Tuesday, December 27, 2011

นิทานเรื่อง น้ำชาล้นถ้วย

นิทานเซ็น เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย
เล่าโดย .. ท่านพุทธทาสภิกขุ


        เรื่องที่หนึ่ง ซึ่งไม่อยากจะเว้นเสีย ทั้งที่ เคยเอ่ยถึงแล้ว วันก่อน คือ เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย คือว่า อาจารย์ แห่งนิกายเซ็น ชื่อ น่ำอิน เป็น ผู้มีชื่อเสียง ทั่วประเทศ และ โปรเฟสเซอร์ คนหนึ่ง  เป็น โปรเฟสเซอร์ ที่มีชื่อเสียง ทั่วประเทศ ไปหา อาจารย์น่ำอิน เพื่อขอศึกษา พระพุทธศาสนา อย่างเซ็น ในการต้อนรับ ท่านอาจารย์ น่ำอิน ได้รินน้ำชา ลงในถ้วย รินจนล้นแล้วล้นอีก โปรเฟสเซอร์ มองดูด้วยความฉงน ทนดูไม่ได้ ก็พูดโพล่งออกไปว่า "ท่านจะใส่มัน ลงไปได้อย่างไร" ประโยคนี้ มันก็แสดงว่า โมโห ท่านอาจารย์ น่ำอิน จึงตอบว่า" ถึงท่านก็เหมือนกัน อาตมาจะใส่อะไร ลงไปได้อย่างไร เพราะท่านเต็มอยู่ด้วย opinions และ speculations ของท่านเอง" คือว่า เต็มไปด้วยความคิด ความเห็น ตามความ ยึดมั่นถือมั่น ของท่านเอง และมีวิธีคิดนึก คำนวณ ตามแบบ ของท่านเอง สองอย่างนี้แหละ มันทำให้เข้าใจ พุทธศาสนาอย่างเซ็น ไม่ได้ เรียกว่า ถ้วยชามันล้น
       ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะเตือนสติเด็กของเราให้รู้สึกนึกคิด เรื่องอะไรล้น อะไรไม่ล้น ได้อย่างไร ขอให้ช่วยกันหาหนทาง ในครั้งโบราณ ในอรรถกถา ได้เคย กระแหนะกระแหน ถึง พวกพราหมณ์ ที่เป็น ทิศาปาโมกข์ ต้องเอาเหล็กมาตี เป็นเข็มขัด คาดท้องไว้ เนื่องด้วย กลัวท้องจะแตก เพราะวิชาล้น นี้จะเป็นเรื่อง ที่มีความหมายอย่างไร ก็ลองคิดดู พวกเรา อาจล้น หรือ อัดอยู่ด้วยวิชาทำนองนั้น จนอะไรใส่ ลงไปอีกไม่ได้ หรือ ความล้นนั้น มันออกมา อาละวาด เอาบุคคลอื่น อยู่บ่อยๆ บ้างกระมัง แต่เราคิดดูก็จะเห็นได้ว่า ส่วนที่ล้น นั้น คงจะเป็นส่วน ที่ใช้ไม่ได้ จะจริงหรือไม่ ก็ลองคิด ส่วนใดที่เป็นส่วนที่ล้น ก็คงเป็น ส่วนที่ใช้ไม่ได้ ส่วนที่ร่างกาย รับเอาไว้ได้ ก็คงเป็น ส่วนที่มีประโยชน์ ฉะนั้น จริยธรรมแท้ๆ ไม่มีวันจะล้น โปรดนึกดูว่า จริยธรรม หรือ ธรรมะแท้ๆ นั้น มีอาการล้นได้ไหม ถ้าล้นไม่ได้ ก็หมายความว่า สิ่งที่ล้นนั้น มันก็ไม่ใช่จริยธรรม ไม่ใช่ธรรมะ ล้นออกไป เสียให้หมด ก็ดีเหมือนกัน หรือ ถ้าจะพูดอย่างลึก เป็นธรรมะลึก ก็ว่า จิตแท้ๆ ไม่มีวันล้น อ้ายที่ล้นนั้น มันเป็นของปรุงแต่งจิต ไม่ใช่ตัวจิตแท้ มันล้นได้มากมาย แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่า จิตแท้คืออะไร อะไรควรเป็น จิตแท้ และอะไรเป็นสิ่ง ที่ไม่ใช่จิตแท้ คือ เป็นเพียง ความคิดปรุงแต่ง ซึ่งจะล้นไหลไปเรื่อย นี่แหละ รีบค้นหาให้พบ สิ่งที่เรียกว่า จิตจริงๆ กันเสียสักที ก็ดูเหมือนจะดี
        ในที่สุด ท่านจะพบตัวธรรมะอย่างสูง ที่ควรแก่นามที่จะเรียกว่า จิตแท้ หรือ จิตเดิมแท้ ซึ่งข้อนั้น ได้แก่ ภาวะแห่งความว่าง จิตที่ประกอบด้วย สภาวะแห่งความว่างจาก "ตัวกู-ของกู" นั้นแหละ คือ จิตแท้ ถ้าว่างแล้ว มันจะเอาอะไรล้น นี่เพราะเนื่องจากไม่รู้จักว่า อะไรเป็นอะไร จึงบ่นกันแต่เรื่องล้น การศึกษาก็ถูกบ่นว่า ล้น และที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือ ที่พูดว่า ศาสนานี้ เป็นส่วนที่ล้น จริยธรรมเป็นส่วนล้น คือส่วนที่เกิน คือ เกินต้องการ ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องเอามาสนใจ เขาคิดว่า เขาไม่ต้อง เกี่ยวกับศาสนา หรือธรรมะเลย เขาก็เกิดมาได้ พ่อแม่ก็มีเงินให้ เขาใช้ให้เขาเล่าเรียน เรียนเสร็จแล้ว ก็ทำราชการ เป็นใหญ่เป็นโต ได้โดยไม่ต้อง มีความเกี่ยวข้อง กับศาสนาเลย ฉะนั้น เขาเขี่ยศาสนา หรือ ธรรมะ ออกไปในฐานะ เป็นส่วนล้น คือ ไม่จำเป็น นี่แหละ เขาจัดส่วนล้น ให้แก่ศาสนาอย่างนี้ คนชนิดนี้ จะต้องอยู่ ในลักษณะที่ ล้นเหมือน โปรเฟสเซอร์คนนั้น ที่อาจารย์น่ำอิน จะต้อง รินน้ำชาใส่หน้า หรือ ว่ารินน้ำชาให้ดู โดยทำนองนี้ทั้งนั้น เขามีความเข้าใจผิดล้น ความเข้าใจถูกนั้นยังไม่เต็ม มันล้นออกมา ให้เห็น เป็นรูปของ มิจฉาทิฎฐิ เพราะเขาเห็นว่า เขามีอะไรๆ ของเขาเต็มเปี่ยมแล้ว ส่วนที่เป็นธรรมะ เป็นจริยธรรมนี่ เข้าไม่จุ อีกต่อไป ขอจงคิดดูให้ดีเถอะว่า นี้แหละ คือ มูลเหตุที่ทำให้จริยธรรม รวนเร และ พังทลาย ถ้าเรามีหน้าที่ ที่จะต้องผดุงส่วนนี้แล้ว จะต้องสนใจเรื่องนี้
*******
กล่องนิทานจาก http://www.buddhadasa.com

Sunday, December 25, 2011

คนตัดไม้กับเทพารักษ์

นิทานเรื่อง คนตัดไม้กับเทพารักษ์
       เป็นนิทาน ของอีสป ใช้สอนประกอบเพื่อปลูกฝังคุณธรรมเรื่อง ความซื่อสัตย์  เรื่องมีอยู่ว่า

 
       คนตัดไม้นั่งร้องไห้อยู่ริมลำธารเพราะทำขวานตกลงไป
       เทพารักษ์สงสารจึงลงไปงมเอาขวานทองคำมาให้
       คนตัดไม้เป็นคนซื่อจึงตอบว่าขวานทองนั้นไม่ใช่ของตน ครั้นเทพารักษ์งมเอาขวานเงินมาให้ เขาก็ไม่รับ
       เทพารักษ์จึงงมเอาขวานเหล็กธรรมดาๆ มาให้ คนตัดไม้จึงดีใจ บอกว่าเป็นขวานของตน
       เทพารักษ์ชื่นชมในความซื่อตรงของคนตัดไม้ จึงมอบ ขวานทองเเละขวานเงินให้เป็นของขวัญ
       คนตัดไม้ดีใจ กลับบ้านไปเล่าให้เพื่อนฟัง
       เพื่อนคนนั้นเป็นคนโลภ จึงรีบเข้าป่าไปตัดไม้เเล้วเเกล้ง ทำขวานตกลงไปในลำธารเพื่อให้เทพารักษ์มาช่วยบ้าง
       เมื่อเทพารักษ์ปรากฏกายมาช่วยงมเอาขวานทองคำมาให้ ชายโลภก็รีบตอบรับว่านั่นคือขวานของเขา
       เทพารักษ์กริ้วที่ชายผู้นั้นพูดเท็จเพราะโลภมากจึงไม่ยอมให้ ขวานทองคำเเก่เขา ปล่อยให้เขานั่งร้องไห้เลียดายขวานเหล็ก ตามลำพัง
 คติเตือนใจ จงพอใจในสิ่งที่เป็นของตน ไม่โลภมาก

วิดีทัศน์


********

เสียงขลุ่ยกลับมาหากอไผ่

เสียงขลุ่ยกลับมาหากอไผ่
โดยพุทธทาสภิกขุ 

 
           "เสียงขลุ่ยหวนกลับมาหากอไผ่"
            จงคิดให้เห็นความตามนี้หนอ
            ว่าไผ่ลำตัดไปจากไผ่กอ
             ทำขลุ่ยพอเป่าได้เป็นเสียงมา
             เสียงก็หวนกลับมาหากอไผ่
             เป่าเท่าไรกลับกันเท่านั้นหนา
             เหมือนไอน้ำจากทะเลเป็นเมฆา
            กลายเป็นฝนกลับมาสู่ทะเล ฯ

           เหมือนตัณหาพาคนด้นพิภพ
           พอสิ้นฤทธิ์ก็ตระหลบหนทางเห
           วิ่งมาสู่แดนวิสุทธิ์หยุดเกเร
           ไม่เถลไถลไปที่ไหนเลย;
           อันความวุ่นวิ่งมาหาความว่าง
           ไม่มีทางไปไหนสหายเอ๋ย
           ในที่สุดก็ต้องหยุดเหมือนอย่างเคย

            ความหยุดเฉยเป็นเนื้อแท้แก่ธรรมเอย ฯ
          คนทุกคนมีแรงพลุ่งไปใน "ความเกิด" ด้วยฤทธิ์ของตัณหาและอุปาทาน. โดยเหตุที่ไม่ทราบว่า ที่แท้อารมณ์ทั้งปวงนั้น ก่อตัวพลุ่งขึ้นก็เพียงมุ่งกลับสู่สภาพเดิม คือ "ความดับ".
          เหมือนไม้ไผ่ตัดจากกอไผ่ไปทำขลุ่ยเป่าเสียงดังไพเราะ ก็เพียงเพื่อ "ความดับ" แห่งเสียงนั้นลงสู่สภาพไม้ไผ่จากกอเดิม; หรือเหมือนไอน้ำจากทะเล พลุ่งขึ้นเป็นเมฆาและตกเป็นฝนลงสู่ทะเลตามเดิม.
          ความวุ่นที่พลุ่งขึ้น ก็ย่อมดับมอดลงสู่ ความว่าง อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ เพราะฉะนี้แล ความไม่ดิ้นรนทะยานไปในอารมณ์ทั้งปวง ด้วยตัณหาอุปาทาน จึงเป็นความดับสนิทไปแต่ต้นมือแล้ว.
******

Thursday, December 22, 2011

นิทาน ก้อม

นิทานก้อม

       นิทานก้อม คือนิทานขนาดสั้น นิทานกระทัดรัดที่มีหลากหลาย ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากิน ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม  และบางเรื่องเป็นนิทานที่คนอีกฐานะหนึ่งที่ต่ำกว่า ในชีวิตจริงไม่อาจจะทำอะไรได้ จึงต้องระบายออกมาในรูปของนิทาน อาจจะเป็นการแก้แค้นในรูปของนิทาน เช่นเรื่องเกี่ยวกับเณรน้อยและหลวงตา ลูกเขยกับพ่อตา เป็นต้น  
       เป็นนิทานประเภทตลกขบขัน หรือนิทานขำขัน ทุกเรื่องจะมีมุขตลกอยู่ด้วย โดยมากมุขตลกมักจะอยู่ตอนจบ พอเล่าถึงมุขตลก นิทานก็จบ

       นิทานก้อม เป็นนิทานเรียกเสียงฮา เสียงหัวเราะได้ดีทีเดียว โดยมาก มักเล่ากันเมื่อมีคนฟังเยอะ ๆ เช่น เมื่อทำงานร่วมกัน เมื่อกินข้าวร่วมกัน หรือเมื่อนั่งชุมนุมจับกลุ่มกันตอนเย็น เป็นต้น แต่ละที่ แต่ละแแห่ง ก็จะมีเรื่องขำๆ เปิ่นๆ แตกต่างกันไป 
*******

       เช่นเรื่องนี้ ที่เกี่ยวกับ พ่อตากับลูกเขย

       วันหนึ่งพ่อตากับลูกเขยพากันไปรื้อบ่อน้ำดื่มน้ำใช้ พอขุดไปขุดมา พ่อตาไม่รู้ว่าเป็นอะไรท้องไส้ไม่ดี เกิดผายลมออกมา ลูกเขยรู้สึกเหม็นมากเลยพูดว่า
       "เหม็นตดหมาตัวไหนครับ พ่อ"
        พ่อตาโกรธมาก เลยพูดขึ้นว่า
       "อ้าว ไอ้ทิด ในบ่อนี้ก็มีแต่กูกับมึงเท่านั้น ทำไมมึงพูดงี้วะ"
       พ่อตาได้แต่แค้นอยู่ในใจ ที่ลูกเขยเรียกตนเองว่าหมา และก็คิดหาโอกาสแก้แค้น พอรื้อบ่อน้ำเสร็จ พ่อตาก็เลยถามลูกเขยว่า
      "ไอ้ทิด มีเงินมั้ย"
       ลูกเขยตอบว่า "มีอยู่ไม่มากเท่าไหร่พ่อ"
      พ่อตาเลยชวน "เล่นโบกกันมั้ยละ"
      (โบก เป็นการพนันคล้ายไฮโลว์ แต่ใช้เม็ดมะขามผ่าครึ่งเป็นอุปกรณ์หลัก)
       ลูกเขยตกลง ก็เลยพากันเล่นโบก เล่นไปเล่นมา ลูกเขยเสียตังค์ให้พ่อตาจนหมด ลูกเขยกำลังติดลมอยากเล่นต่อ เลยขอยืมพ่อตา
       "พ่อๆ ขอยืมตังค์ซักหน่อย พอได้ต่อทุน"
       พอตาก็ตอบว่า "ยืมไม่ได้หรอกไอ้ทิด กูก็เสียเหมือนกัน"
      ลูกเขยโกรธพ่อตามาก เลยพูดขึ้นว่า
"โอ้ย ไม่รู้เสียให้โคตรพ่อใคร เล่นกันอยู่สองคนเท่านั้น" 

วิดีทัศน์ นิทานก้อม  ที่พ่อตากับลูกเขยผูกเสี่ยวกัน ตอนเมา 

*******
กล่องนิทาน http://www.isan.clubs.chula.ac.th

นิทาน ปลูกฝังคุณธรรมนักเรียน


เรียนรู้ชีวิตจากนิทานไทย
โดย จรวยพร  ธรณินทร์ 


         กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการนิทานส่งเสริมคุณธรรม เพื่อนำมาจัดพิมพ์ใหม่สำหรับให้เด็กและเยาวชนอ่าน โดยเน้นคุณธรรมหลัก ๘ ประการ ได้แก่ วินัย มีน้ำใจ ซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัด สุภาพ สะอาด และสามัคคี  และเน้นหลักการเศรษฐกิจพอพียง ๓ ประการ คือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง  จึงขอนำมาเล่าให้สมาชิก ครีมได้เข้าใจคุณธรรมผ่านนิทาน ๑๑ เรื่อง 

               ๑. คติธรรม การรักษาวินัย จากนิทานเรื่อง จันทโครพ   
จันทโครพเจ้าชายเมืองพาราณสีออกแสวงหาพระอาจารย์และได้เรียนรู้จนสำเร็จวิชาอันแกร่งกล้า จึงเดินทางกลับเมือง ในระหว่างทางพระองค์ได้เปิดผอบที่พระอาจารย์มอบให้นำกลับเมืองและกำชับให้เปิดเมื่อถึงเมืองแล้ว เมื่อผอบเปิดจันทโครพได้พบกับนางโมราสาวงาม ซึ่งเป็นต้นเหตุให้พระองค์ต้องตายเพราะมือโจรในที่สุด  คติเตือนใจ  ควรรู้จักยับยั้งความอยากรู้อยากเห็น ช่วยไม่ให้เกิดภัยพิบัติ
 ๒.คติธรรม  ความมีน้ำใจจากนิทานเรื่อง ชาวนากับงูเห่า         
              ในเช้าของฤดูหนาววันหนึ่ง ชาวนาผู้หนึ่งเดินออกจากบ้านไปทุ่งนา ระหว่างทางเห็นงูเห่าตัวหนึ่ง นอนขดตัวอยู่ เกิดความรู้สึกสงสาร จึงเก็บงูตัวนั้นมากอดไว้ในอ้อมแขน  เมื่องูรู้สึกอบอุ่นก็เคลื่อนไหวและฉกกัดชาวนาด้วยเป็นสัตว์เดียรัจฉาน  ชาวนาจึงสิ้นใจตาย คติเตือนใจ ทำคุณกับคนชั่วมีแต่จะได้รับความเดือดร้อน 

๓.      คติธรรม ความซื่อสัตย์  จากนิทานเรื่อง คนตัดไม้กับเทพารักษ์
               คนตัดไม้คนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ริมลำธารเพราะทำขวานของตนเองตกลงไปในน้ำ  เทพารักษ์สงสารจึงปรากฏกายช่วยเหลือโดยครั้งแรกงมขวานทองคำ ครั้งที่สองงมขวานเงินขึ้นมาให้ คนตัดไม้นั้นเป็นคนซื่อสัตย์จึงปฏิเสธว่าไม่ใช่ขวานของตน จนเทพารักษ์งมขวานเหล็กขึ้นมา  เขาจึงยอมรับ เทพารักษ์ตอบแทนความซื่อสัตย์ด้วยการมอบขวานทองคำและเงินให้ด้วย เพื่อนบ้านคนหนึ่งทราบเรื่อง เกิดความละโมบจึงไปที่ลำธารและทำขวานหล่น แต่ด้วยความไม่ซื่อสัตย์ ทำให้เขาไม่ได้ขวานคืนแม้กระทั่งของตนเอง คติเตือนใจ จงพอใจในสิ่งที่เป็นของตน ไม่โลภมาก
๔.คติธรรม ความขยันและอดทน จากนิทานเรื่อง โสนน้อยเรือนงาม
                โสนน้อยเรือนงามเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์นครโรมวิสัย นางต้องออกจากเมืองด้วยโหรหลวงทำนายว่าจะมีเคราะห์  พระอินทร์สงสารจึงแปลงร่างเป็นชีปะขาวมามอบยาคืนชีพให้โสนน้อยนำติดตัวไปด้วย โสนน้อยเดินทางมาในป่าได้ช่วยเหลือนางกุลาซึ่งเป็นหญิงอัปลักษณ์และใจร้ายให้ฟื้นคืนชีพ นางกุลาได้ขอเป็นทาสและติดตามไปด้วย ต่อมาโสนน้อยได้มีโอกาสช่วยเจ้าชายวิจิตรจินดาให้ฟื้นคืนชีพเพราะถูกงูพิษกัด นางกุลาได้สวมรอยเป็นพระนางและแอบอ้างแทน  เจ้าชายวิจิตรจินดาไม่เชื่อและใช้วิธีการต่างๆ ทดสอบหาผู้ที่ช่วยเหลือพระองค์ จนในที่สุด พระองค์ก็ได้พบความจริง และเสกสมรสกับพระราชธิดาโสนน้อยมีความสุขสืบมา คติเตือนใจ  ความขยันอดทนมีน้ำใจ เป็นเกราะคุ้มภัยตนเอง
๕.คติธรรม  การประหยัดจากนิทานเรื่อง คนขี้เหนียวกับทองคำ
              เศรษฐีคนหนึ่งเป็นคนขี้เหนียว เขามักนำทรัพย์สมบัติฝังดินไว้รอบบ้าน ไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยความกลัวคนขโมย ต่อมาเขาจึงได้นำทรัพย์สมบัติไปขายแล้วซื้อเป็นทองคำได้หนึ่งแท่ง นำมาฝังไว้หลังบ้าน เฝ้าดูทุกวัน คนใช้เห็นจึงแอบดู และขโมยไป  เศรษฐีต้องเสียใจเพราะเสียทรัพย์ที่ตนเก็บเอาไว้ คติเตือนใจ  การมีทรัพย์และออมทรัพย์เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรู้จักประมาณการใช้ทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ด้วย
๖. คติธรรม  ความสุภาพจากนิทานเรื่อง พิกุลทอง
                หญิงหม้ายคนหนึ่งมีลูกสาว ๒ คน คนโตชื่อ มะลิ คนที่สองชื่อพิกุล หญิงหม้ายนั้น รักมะลิมาก เพราะมีรูปร่างหน้าตาและนิสัยเหมือนนาง พิกุลเป็นหญิงสาวที่มีหน้าตาสะสวย กริยามารยาทและน้ำใจงาม  พิกุลต้องทำงานหนักเนื่องจากความลำเอียงของมารดา แต่ด้วยความมีน้ำใจต่อคนอื่น ทำให้พิกุลได้รับพรจากรุกขเทวดา   ให้มีดอกพิกุลทองร่วงออกมาจากปากทุกครั้งที่พูด หญิงหม้ายมีความละโมบได้บีบคั้นให้พิกุลทองพูดเพื่อเอาทองคำ และให้มะลิไปขอพรรุกขเทวดา แต่มะลิมีนิสัยหยาบช้าจึงได้รับผลตรงกันข้ามกับพิกุล พิกุลถูกมารดาทำร้ายต้องหนีออกจากบ้าน ได้พบกับเจ้าชายรูปงามและครองคู่กันต่อมาอย่างมีความสุข คติเตือนใจ ความมีน้ำใจและความสุภาพเป็นเครื่องผูกมิตรต่อผู้อื่น
๗.คติธรรม ความขยันจากนิทานเรื่อง นางอุทัยเทวี
               อุทัยเทวีเป็นธิดาของรุกขเทวดาและนางนาค นางต้องพลัดมาอยู่บนโลกมนุษย์ จึงปกป้องตนเองด้วยการอาศัยอยู่ในร่างของคางคก ต่อมาตายายได้มาพบ นางจึงขอไปอาศัยอยู่ด้วย อุทัยเทวีช่วยเหลือตอบแทนตายายที่เลี้ยงดูตนเอง โดยออกมาจากร่างคางคกและทำงานต่างๆ ในบ้าน อุทัยเทวีเติบโตเป็นสาวสวยงาม เจ้าชายสุทราชกุมาร ได้พบกับนางก็หลงรัก และให้พระราชบิดามาสู่ขอ ตายายได้ขอให้สร้างสะพานทองจากพระราชวังมาถึงบ้าน ทำให้พระราชากริ้วมาก และตรัสให้ตายายสร้างปราสาทหลังใหญ่ให้เสร็จภายใน ๗ วัน เช่นกัน อุทัยเทวีได้เนรมิตปราสาทและเจ้าชายได้ตั้งจิตอธิษฐานขอสะพานทองจากเทวดา ในที่สุดทุกอย่างก็จบลงด้วยความสุข คติเตือนใจ การประพฤติตนเป็นคนดี ขยัน กตัญญูส่งผลให้ได้รับผลบุญที่ดี
๘.คติธรรม ความสามัคคีจากนิทานเรื่อง นกกระจาบ
               นกกระจาบฝูงหนึ่งถูกนายพรานใช้ตาข่ายจับไป หัวหน้านกกระจาบและนกที่เหลือได้หาวิธีเพื่อให้รอดพ้นจากตาข่าย เมื่อฝูงนกถูกนายพรานดักจับ ได้ใช้กลวิธีความสามัคคี ทำให้รอดพ้นจากตาข่ายนายพรานได้อย่างปลอดภัย คติเตือนใจ คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย สามคนกลับบ้านได้
๙.คติธรรม ความพอประมาณจากนิทานเรื่อง หมากับเงา
                  หมาหิวโซตัวหนึ่งแย่งก้อนเนื้อชิ้นหนึ่งมาจากหมาซึ่งตัวเล็กกว่า มันคาบก้อนเนื้อนั้นมาถึงลำธารแห่งหนึ่ง ขณะที่มันเดินข้ามสะพานมองลงไปในน้ำก็เห็นเงาของหมาตัวใหญ่ตัวหนึ่งคาบก้อนเนื้อขนาดใหญ่ไว้ในปาก จึงเกิดความโลภคายก้อนเนื้อและกระโดดลงไปในน้ำหมายจะแย่งเนื้อจากหมาที่เห็นในน้ำซึ่งใหญ่กว่า ผลที่สุดหมาตัวนี้ก็ต้องอดโซต่อไป คติเตือนใจ จงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ โลภมาก ลาภหาย
o.คติธรรม ความมีเหตุผลจากนิทานเรื่องสังข์ทอง
                     รจนาเป็นธิดาองค์สุดท้องในจำนวนพระธิดาเจ็ดองค์ของท้าวสามล พระธิดาหกองค์ได้เลือกคู่ครองที่เป็นเจ้าชายเหมาะสมกับแต่ละคนแล้ว แต่รจนากลับมองเห็นรูปทองภายในของเจ้าเงาะรูปชั่วตัวดำ ท้าวสามลกริ้วมากจึงขับไล่ให้นางรจนาไปอยู่กระท่อมปลายนากับเจ้าเงาะ  พระอินทร์ได้แปลงกายมาประลองตีคลีเมืองกับท้าวสามล เขยทั้งหกไม่สามารถสู้รบกับพระอินทร์  เจ้าเงาะต้องถูกเกณฑ์ไปและมีชัยชนะ ทุกคนจึงได้ทราบความจริงว่า เงาะรูปชั่วตัวดำ คือ เจ้าชายสังข์ทองคติเตือนใจ อย่ามองผู้อื่นหรือตัดสินผู้อื่นแต่เพียงภายนอก
๑๑.คติธรรม  มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง จากนิทานเรื่อง มดง่ามกับจักจั่น
                   ในฤดูฝน จักจั่นผอมโซเพราะเกียจคร้านตัวหนึ่ง มาขออาหารมดงามซึ่งขยันขันแข็งเก็บสะสมอาหารที่หาไว้ในช่วงฤดูร้อน   จักจั่นตัวนั้น นอกจากไม่ได้อาหารจากมดง่ามแล้วยังถูกตำหนิว่ากล่าวให้อับอายอีกด้วย  คติเตือนใจ  ความขยันหมั่นเพียร ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต
นิทานส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าขานกันมาหลายชั่วคนจนกลายเป็นตำนานสอนใจ
*******

Tuesday, December 20, 2011

นิทานชาดก เรื่อง แพะรับบาป

นิทานชาดก
เรื่อง แพะรับบาป


       ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภมตกภัต ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

       กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี สมัยพระเจ้าพรหมทัต มีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่ง คิดจะทำมตกภัต (อุทิศคนตาย) จึงให้ลูกศิษย์จับแพะตัวหนึ่งไปอาบน้ำและประดับดอกไม้ แพะพอถูกลูกศิษย์จูงไปที่ท่าน้ำ ก็ทราบถึงวาระสุดท้ายชีวิตของตนมาถึงแล้วอันเนื่องจากกรรมเก่า จึงเกิดความโสมนัส ได้หัวเราะออกมาเสียงดัง และคิดเวทนาสงสารพราหมณ์ที่จะได้รับความทุกข์โศก จึงร้องไห้ออกมา แพะแสดงอาการเดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ออกมา ทำให้พวกลูกศิษย์แปลกใจ เมื่อนำแพะกลับมาถึงสำนักแล้ว จึงบอกเรื่องนี้แก่พราหมณ์ พราหมณ์จึงถามแพะถึงอาการนั้น

     แพะจึงบอกพราหมณ์ว่า " อดีตชาติเคยเป็นพราหมณ์เหมือนกัน เพราะได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งทำมตกภัต จึงเป็นเหตุให้ถูกฆ่าตัดศีรษะถึง ๔๙๙ ชาติ นี่เป็นชาติที่ ๕๐๐ พอดี จึงหัวเราะดีใจที่จะสิ้นกรรมในวันนี้ และร้องไห้ เพราะสงสารท่านที่จะเป็นเช่นกับเรา "

     พราหมณ์ ได้ฟังแล้วเกิดความสลดใจ จึงยกเลิกไม่ฆ่าแพะ และสั่งให้ลูกศิษย์ทำการอารักขาแพะเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้แพะเกิดอันตราย แพะจึงบอกพราหมณ์ว่า " การอารักขาของท่านมีประมาณน้อย ส่วนบาปกรรมของเรามีกำลังมาก อะไรก็ห้ามไม่ได้ "

      แพะพอเขาปล่อย ก็ชะเง้อคอจะกินใบไม้ใกล้แผ่นหินแห่งหนึ่ง ทันใดนั้นเอง ฟ้าได้ผ่าลงที่แผ่นหิน สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งได้ปลิวไปตัดคอแพะที่กำลังชะเง้อคออยู่พอดี แพะล้มลงสิ้นใจตายทันที
รุกขเทวดาที่อยู่ในที่นั้น ได้กล่าวสอนว่า " มนุษย์ผู้กลัวตกนรก พึงพากันงดจากปาณาติบาต ตั้งอยู่ในเบญจศีลเถิด " และกล่าวเป็นคาถาว่า
     " ถ้าสัตว์ทั้งหลาย พึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติภพนี้เป็นทุกข์
       สัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์ เพราะว่าผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมเศร้าโศก "


    นิทานเรืองนี้สอนให้รู้ว่า   เกิด เป็นคนไม่พึงทำกรรมชั่วด้วยการฆ่าสัตว์ด้วยกัน มิเช่นนั้นจะได้รับความทุกข์เช่นแพะรับบาปนี้
     จากนิทานเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า แพะรับบาป 
******* 
กล่องนิทานจาก  http://www.dhammathai.org

Sunday, December 18, 2011

ผึ้งขอพร

 นิทานอีสปเรื่อง 

ผึ้งขอพร 

      พระอิศวรตรัสถามผึ้งที่มักจะนำน้ำผึ้งสดๆ เต็มรวงมาถวาย อยู่เสมอว่า
      "เจ้าอยากได้พรใด จงขอมา ข้าจะให้พรเเก่เจ้า"
      "ข้าอยากได้เหล็กในพระเจ้าข้า เมื่อต่อยเหล็กในมีพิษใส่ใคร ผู้นั้นต้องตายทันที"
คำขอของผึ้งทำให้พระอิศวรทรงกริ้วที่ผึ้งคิดทำร้ายผู้อื่น เเต่พระองค์ก็ทรงจำต้องให้พรตามที่ลั่นวาจาไว้
     "ได้ ข้าจะให้พรเเก่เจ้า เเต่คนหรือสัตว์ที่ถูกเจ้าต่อยจะไม่ตาย ในทันที ส่วนเจ้านั้นเมื่อปล่อยเหล็กในเมื่อใดก็ต้องตายเมื่อนั้น"
       การขอพรนั้นต้องขอในสิ่งที่ดีงาม
******* 
กล่องนิทาน http://www.fungdham.com

 

Friday, December 16, 2011

ผู้ใหญ่บ้านทวงหนี้ไม่ถูกเวลา

ผู้ใหญ่บ้านทวงหนี้ไม่ถูกเวลา


       ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันอยากสึกรูปหนึ่ง ตรัสให้โอวาทว่า "ภิกษุ..ขึ้นชื่อว่ามาตุคามดูแลไม่ไหว ทำความชั่วแล้วยังลวงสามีด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งอีก" แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
       กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคหบดีในแคว้นกาสี มีภรรยาผู้ทุศีลคนหนึ่งชอบคบชู้กับผู้ใหญ่บ้านเป็นประจำ พระโพธิสัตว์ก็พอทราบระแคะระคายอยู่บ้างจึงเฝ้าสืบดูอยู่
       ในฤดูทำนาของปีหนึ่ง หลังจากดำนาเสร็จแล้ว ข้าวยังไม่ทันตั้งท้อง ก็เกิดฝนแล้งขึ้น ชาวบ้านเดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้านเพราะไม่มีอาหารจะกิน จึงได้ตกลงกันซื้อวัวของผู้ใหญ่บ้านตัวหนึ่งเพื่อนำมาฆ่าแบ่งเนื้อปันกัน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วถึงจะนำข้าวเปลือกมอบให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นค่าเนื้อใน อีกสองเดือนข้างหน้า
       อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พระโพธิสัตว์ออกไปนา ผู้ใหญ่บ้านได้แอบย่องเข้าไปหาภรรยาของพระโพธิสัตว์ที่ บ้าน ในขณะที่ทั้งคู่กำลังนอนด้วยกันอย่างมีความสุขอยู่นั้น พระโพธิสัตว์กลับมาถึงบ้านพอดีได้เห็นเหตุการณ์นั้นจึงยืนดูอยู่ที่ประตูบ้าน ฝ่ายภรรยาพอเห็นสามีกลับมาในขณะนั้นจึงรีบบอกอุบายแก่ผู้ใหญ่บ้านว่า "ท่านจงทำเป็นมาร้องทวงหนี้เนื้อวัวนะ ฉันจะขึ้นไปบนยุ้งข้าวตอบท่านว่าข้าวเปลือกไม่มี ท่านก็จงพูดทวงหนี้นั้นไปเรื่อย ๆ"
       ผู้ใหญ่บ้านก็ทำใจดีสู้เสือเดินออกไปยืนกลางเรือนแล้วร้องเรียกว่า "น้องหญิงอยู่ไหม ฉันมาทวงหนี้ค่าเนื้อวัวนะ" ฝ่ายภรรยาที่รีบปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนยุ้งข้าวแล้วก็ร้องตอบมาว่า "ข้าวเปลือกยังไม่มีหรอกพี่ผู้ใหญ่ เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วเราจะนำไปให้ดอกนะ กลับไปก่อนเถอะจ้า"
       พระโพธิสัตว์เดินเข้าไปในบ้านเห็นเขาพูดโต้ตอบกัน ก็ทราบว่าเป็นอุบายของภรรยา จึงเรียกผู้ใหญ่บ้านพูดว่า "ท่านผู้ใหญ่..เราสัญญากันไว้ ๒ เดือนมิใช่หรือ นี่ยังไม่ถึงครึ่งเดือนด้วยซ้ำไป ท่านมาทวงหนี้ทำไมเวลานี้ ท่านมาเพราะเรื่องอื่นกระมัง ผมไม่ชอบใจเลยนะ นางนั้นก็เหลือร้ายรู้ทั้งรู้อยู่ว่าในยุ้งข้าวไม่มีข้าวเปลือกก็ยังร้องบอกอยู่นั่นแหละ ผมไม่พอใจพฤติกรรมของพวกท่านเลยนะ" แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
"กรรมทั้ง ๒ ไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ ก็หญิงคนนี้ลงไปในยุ้งข้าวแล้วพูดว่าเรายังใช้หนี้ให้ไม่ได้ท่านผู้ใหญ่บ้าน เพราะเหตุนี้เราจึงพูดกะท่าน ท่านได้ทำสัญญากำหนดไว้ ๒ เดือน แล้วมาทวงเนื้อวัวผอมแก่เมืองยังไม่ถึงกำหนดเวลาสัญญา กรรมทั้ง ๒ นั้น ฉันไม่ชอบใจเลย"
        เมื่อพูดจบแล้วก็จิกผมผู้ใหญ่บ้านกระชากให้ล้มลงกลางเรือน แล้วพูดสอนว่า "ท่านทำร้ายคนอื่นเพราะถือว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือ" ทุบตีจนผู้ใหญ่บ้านบอบช้ำแล้วก็ไล่ไสหัวไป หันไปคว้าผมภรรยามาพูดขู่ว่า "นางตัวดี ถ้าเธอไม่เลิกพฤติกรรมเช่นนี้อีกจะเห็นดีกัน" ตั้งแต่วันนั้นมาผู้ใหญ่บ้านไม่กล้าแม้แต่จะเดินผ่านหน้าบ้านหลังนั้นอีกเลย ภรรยา ของพระโพธิสัตว์ก็ได้เลิกพฤติกรรมเช่นนั้นไป
******* 
 การรู้จักเวลาไหนควรหรือไม่ควรเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
ตู้นิทานจาก  http://www.dhammathai.org

ไก่ขันไม่เป็นเวลา

นิทานชาดกเรื่อง
ไก่ขันไม่เป็นเวลา


    ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ท่องบ่นไม่เป็นเวลารูปหนึ่ง สร้างความรำคาญและความเดือดร้อนแก่หมู่ภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ บอกศิลปะแก่มานพประมาณ ๕๐๐ คน พวกมานพอาศัยไก่ขันยามตัวหนึ่ง ในการลุกขึ้นศึกษาศิลปะ ต่อมามันได้ตายไป พวกเขาจึงแสวงหาไก่ตัวอื่นแทนมัน
      วันหนึ่ง มีมานพคนหนึ่งเข้าไปหักฟืนในป่า ได้ไก่ป่าตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ ไก่ตัวนี้ไม่รู้จักเวลาขัน เพราะเติบโตขึ้นในป่า บางวันก็ขันดึกเกินไป บางวันก็ขันอรุณขึ้น พวกมานพพากันตื่นมาศึกษาศิลปะในเวลาดึกเกินไป ไม่อาจศึกษาได้จนอรุณขึ้น ก็พากันนอนหลับไป ในเวลาสว่างแล้วก็ไม่ได้ท่องบ่นเลย พวกเขาจึงพากันพูดว่า " เดี๋ยวมันขันดึกไป เดี๋ยวมันขันสายไป อาศัยไก่ตัวนี้ พวกเราคงศึกษาศิลปะไม่สำเร็จหรอก "  จึงนำมันไปแกงเป็นอาหารแล้วบอกเรื่องนั้นแก่อาจารย์
       อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า
     " ไก่ตัวนี้ ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่
       ไม่ได้อยู่ศึกษาในสำนักอาจารย์
       จึงไม่รู้เวลาที่ควรขันและไม่ควรขัน "


      นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้จักเวลา เวลาใดควรหรือไม่ควร
****** 
ตู้นิทานจาก http://www.dhammathai.org

Wednesday, December 14, 2011

เรื่อง ของนิทาน

เรื่อง ของนิทาน

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

       นิทาน หมายถึงเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา มุ่งให้เห็นความบันเทิงแทรก แนวคิด คติสอนใจ นิทาน แปลว่า เหตุเป็นเครื่องมอบให้ซึ่งผล, มูลเค้า, เรื่องเดิม, สมุฏฐาน
      แบ่งนิทานตามเขตพื้นที่ คือ พบนิทานที่ถิ่นใดก็เป็นของถิ่นนั้น เช่น เขตอินเดีย เขตประเทศนับถือศาสนาอิสลาม เขตชนชาติยิวในเอเซียไมเนอร์ เป็นต้น
      นิทาน แบ่งออกได้หลายอย่าง  นิทานปรัมปรา นิทานท้องถิ่น  นิทานอธิบายสิ่งต่าง ๆ  นิทานเกี่ยวกับความเชื่อ  นิทานวีรบุรุษ   นิทานนักบวช  นิทานเกี่ยวกับสมบัติที่ฝังไว้  นิทานสอนใจ  เทพนิยาย  นิทานสัตว์  นิทานสอนคติธรรม นิทานเล่าไม่รู้จบ
       เมื่อพูดถึงนิทาน ทุกคนจะมีความรู้สึกว่าเป็นสุข คือยังไม่ได้ฟังเลยก็มีความสุขแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นทั้งนี้เป็นเพราะว่า ทุกคนเคยฟังนิทานแล้วทั้งนั้น ยิ่งเป็นนิทานที่ชื่นชอบแล้ว ฟังได้ทุกวันมิเบื่อเลย
       ยิ่งเป็นเด็ก ก็จะตั้งหน้าตั้งตารอคอย เมื่อไรจะค่ำ  จะได้ฟังนิทานจากการเล่าของคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เรารู้จักกันว่าเป็น นิทานก่อนนอน
        นิทานมีมากมายหลายประเภทตามที่กล่าวมา เช่น นิทานชาดก   ซึ่งเราชาวพุทธเชื่อว่า มิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรมอย่างที่นิทานนิทานทั่วไป แต่นิทานชาดก  เป็นเรื่องจริง คือ  เป็นเรื่องในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่าง ๆ บางครั้งก็เพื่อแสดงภูมิหลังของผู้ที่พระองค์ต้องการแสดงธรรมให้ฟัง บางครั้งก็เพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
        ดังนั้น ผู้อ่านนิทานชาดก หรือนิทานธรรมะ ควรอ่านอย่างพิจารณา และนำหลักธรรมไปใช้เป็นคุณประโยชน์ ส่วนความ เพลิดเพลินจากนิทานธรรมะ นั้นถือเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น  จึงจะนับว่าได้รับประโยชน์จากนิทานชาดก หรือ นิทานธรรมะ 
         นอกจากนี้ยังมีนิทาน"นิทานอีสป" มีต้นกำเนิดอยู่ที่อาณาจักรกรีกโบราณ ซึ่งเจ้าของเรื่องเล่าอันสุดแสนสนุกไม่ใช่นักปราชญ์แต่เป็นทาสที่ไร้การศึกษา แต่เปี่ยมไปด้วยเชาวน์ปัญญาความรู้ และมีจินตนาการ
         อีสปเป็นชายผิวสีชาวแอฟริกาที่มีชีวิตอยู่ในนครรัฐกรีกและต้องการทำมาหากิน โดยการขายตัวเป็นทาส แต่โชคร้ายที่รูปร่างหน้าตาของเขาไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานที่พิจารณา คนที่มีความสามารถด้านการต่อสู้เป็นหลัก แต่พระเจ้ากลับประทานมันสมองอันเลอเลิศให้แก่อีสปเป็นการตอบแทน เขาจึงหันมาใช้สติปัญญาในการหาเลี้ยงชีพแทนการใช้กำลัง 
        ผู้ที่อ่านนิทาน อีสป นอกจากจากจะได้รับการเพลิดเพลินแล้วมีคติเตือนใจ
        นิทานพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา ดั้งเดิมนั้นถ่ายทอด การเล่าปากต่อปากกันมา การบอกเล่าต่อๆกันมา ช้านาน และนิทานพื้นบ้านต้องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา ภาษาชาวบ้านทั่วๆไป เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมาช้านาน หลายชั่วอายุคน ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นคนเล่าดั้งเดิม ต้นเรื่องคือใคร
มีทั่วทุกประเทศในโลก  
        นิทานภาษาอังกฤษ วีดีโอนิทาน คลิปนิทาน การ์ตูนสุภาษิต ให้ศึกษา เพื่อให้เป็น นิทานเยาวชน นิทานเด็ก นิทานสอนใจ นิทานคุณธรรม เพื่อจรรโลงจิตใจ ผู้ศึกษาให้รักในคุณงามความดี
        เวลานิทานพร้อมแล้ว
*******
เริ่มเรื่องนิทาน เรื่องแรกเป็นนิทานชาดก ตรงกับยุคสมัยนี้พอดีคือการ ปรองดองชื่อเรื่องว่า

การร่วมมือกัน


       ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระเทวทัตผู้พยายามปลงพระชนม์พระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
       กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวางตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในป่าละเมาะแห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกลจากนั้นมีสระน้ำสระหนึ่ง เต่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ และใกล้ ๆ สระน้ำนั้นมีนกสตปัตตะทำรังอยู่ สัตว์ทั้ง ๓ เป็นเพื่อนรักกันมาก วันหนึ่ง กวางออกหากินได้ติดบ่วงนายพรานตอนเที่ยงคืนจึงร้องเรียกให้เพื่อนมา ช่วย เต่าและนกสตปัตตะมาเห็นแล่วตกลงกันว่าให้เต่าใช้ปากกัดบ่วงให้ขาดก่อนฟ้า สว่าง ส่วนนกพยายามไม่ให้นายพรานออกจากบ้านก่อนสว่างเช่นกัน เมื่อตกลงกันตามนั้นนกสตปัตตะจึงพูดเตือนเต่าว่า "เต่า  เพื่อนรัก ท่านต้องรีบกัดบ่วงให้ขาดเร็ว ๆ นะ เราจักหาวิธีไม่ให้นายพรานมาถึงที่นี่เร็วได้" ว่าแล้วก็บินไป
       ฝ่ายเต่าได้เริ่มแทะเชือกบ่วกนั้นทันที ส่วนนกสตปัตตะได้บินไปจับที่ต้นไม้หน้าบ้านนายพราน พอถึงเวลาตี ๕ นายพรานลุกขึ้นเดินถือหอกออกมาทางประตูหน้าบ้าน นกเห็นเช่นนั้นก็บินโฉบลงไปจิกนายพราน เขาถูกนกจิกไปหลายทีจึงคิดว่าเราถูกนกกาฬกรรณีจิกแล้ว โชคไม่ดีเลยเวลานี้ กลับเข้าไปนอนต่ออีกสักหน่อยดีกว่า"
        เวลาผ่านไปเล็กน้อยนายพรานได้เปลี่ยนไปออกทางประตูหลังบ้าน นกสตปัตตะก็ไปดักที่ประตูหลังบ้านเช่นกัน เขาถูกนกจิกอีกเป็นครั้งที่ ๒ จึงกลับเข้าบ้านไปพร้อมกับบ่นว่า "นกบ้านี่ร้ายจริง ๆ ไว้ให้สว่างก่อนค่อยไปก็ได้วะ"
       พอสว่างแล้ว นายพรานเดินถือหอกออกจากบ้านไป นกสตปัตตะได้บินไปบอกกวางและเต่าล่วงหน้าแล้ว ปรากฏว่าเต่าแทะเชือกบ่วงทั้งคืนจนปากระบมเปื้อนไปด้วยเลือดยังเหลือเชือก เกลียวเดียวก็จะขาด กวางจึงใช้กำลังดิ้นให้เชือกขาดหลุดหนีเข้าป่าไปได้อย่างหวุดหวิด ปล่อยให้เต่านอนหมดแรงอยู่ตรงนั้น นายพรานมาเห็นเฉพาะเต่านอนอยู่จึงใส่กระสอบแขวนเต่าเอาไว้บนกิ่งไม้กวางได้ปรากฎตัวให้นายพรานเห็นแล้วล่อให้นายพรานวิ่งตามไปจนไกลลิบ แล้ววิ่งย้อนกลับคืนมาช่วยเต่า โดยใช้เขายกกระสอบลงมาแล้วกล่าวขอบคุณเต่าและนกสตปัตตะที่ได้ช่วยเหลือชีวิต และต่างคนต่างแยกย้ายกันหลบซ่อนและหาที่อยู่ใหม่เพื่อความปลอดภัย เต่าได้หนีลงน้ำ กวางหนีเข้าป่าลึก ส่วนนกสตปัตตะไปถึงต้นไม้แล้วก็พาลูก ๆ ไปอยู่ในทีห่างไกล
        นายพรานกลับมาถึงที่นั้นอีกไม่เห็นเต่าในกระสอบ ก็ได้แต่ถือกระสอบขาดกลับบ้านไป สัตว์ทั้ง ๓ ได้เป็นเพื่อนรักกันจนตราบเท่าชีวิต 
*******
เรื่องและภาพจาก http://www.dhammathai.org